Aller au contenu principal

ถนนเจริญกรุง


ถนนเจริญกรุง


ถนนเจริญกรุง (อักษรโรมัน: Thanon Charoen Krung) ถนนสายสำคัญสายหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เริ่มต้นตั้งแต่ถนนสนามไชยบริเวณวงเวียน รด. หน้าหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน และหลังจากตัดกับถนนพระรามที่ 3 แล้ว ถนนเจริญกรุงจะมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าถนนตก จนไปสิ้นสุดที่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และการไฟฟ้านครหลวงเขตยานนาวา โดยเป็นถนนรุ่นแรกที่ใช้เทคนิคการสร้างแบบตะวันตก ผ่านพื้นที่เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางรัก เขตสาทร และเขตบางคอแหลม และเป็นเส้นแบ่งของเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย (ด้านซ้าย) กับเขตสัมพันธวงศ์ (ด้านขวา) ตั้งแต่ช่วงสะพานเหล็กบนไปจนถึงบริเวณแยกหมอมี

ประวัติ

สร้างถนน

ถนนเจริญกรุงเป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2407 มีความยาวจากถนนสนามไชยถึงดาวคะนอง 8,575 เมตร ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 19,700 บาท การก่อสร้างถนนเจริญกรุงนั้นเนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีชาวต่างประเทศเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้น และมีพวกกงสุลได้เข้าชื่อกันขอให้สร้างถนนสายยาวสำหรับขี่ม้าหรือนั่งรถม้าตากอากาศและอ้างว่า “เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพมหานครไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถม้าไปเที่ยว พากันเจ็บไข้เนือง ๆ”

ในปีระกา พ.ศ. 2404 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเป็นนายงาน รับผิดชอบในการก่อสร้างถนนช่วงตั้งแต่คูเมืองชั้นในถึงถนนตกริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางคอแหลม เรียกว่าถนนเจริญกรุงตอนใต้ (แต่ชาวบ้านมักเรียกว่าเจริญกรุงตอนล่าง) กว้าง 5 วา 4 ศอก (ประมาณ 10 เมตร หรือเทียบได้กับถนน 4 เลน) โดยมีนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ (ต้นสกุลเศวตศิลา) เป็นผู้สำรวจแนวถนนและเขียนแผนผังถนนลักษณะสองข้างถนนมีคันหินขนาบ และมีร่องสำหรับระบายน้ำ ก่ออิฐกว้าง 40 เซนติเมตร ลึก 60 เซนติเมตร พื้นถนนยังมีสภาพไม่ดีนัก เพราะไม่มีการลงฐาน ใช้วิธีการทุบพอให้ดินเรียบ ๆ แล้วเอาอิฐเรียงตะแคง อัดให้แน่นด้วยดินหรือทราย ถมตรงกลางให้นูนขึ้นแบบหลังเต่าเพื่อระบายน้ำลงสองข้างเวลาฝนตก เมื่อการตัดถนนแล้วเสร็จใหม่ ๆ สภาพถนนยังไม่เรียบร้อย ในฤดูแล้งมีฝุ่น ส่วนฤดูฝนเป็นโคลนตม

ในปีจอ พ.ศ. 2405 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ครุฑ) เป็นแม่กอง พระยาบรรหารบริรักษ์ (สุ่น) เป็นนายงาน รับผิดชอบการก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนใน คือช่วงระยะทางตั้งแต่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ถึงสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็กบน) กว้าง 4 วา โดยสร้างเป็นถนนดินอัด เอาอิฐเรียงตะแคงปูให้ชิดกัน ตรงกลางนูนสูง เมื่อถูกฝนไม่กี่ปีก็ชำรุด การก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนในนี้เดิมกำหนดให้ตัดตรงจากสะพานดำรงสถิต ถึงกำแพงเมืองด้านถนนสนามไชย แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทักท้วงว่าการสร้างถนนตรงมาสู่พระบรมมหาราชวังอาจเป็นชัยภูมิให้ข้าศึกใช้ตั้งปืนใหญ่ยิงทำลายกำแพงเมืองได้ จึงต้องเปลี่ยนแนวถนนมาหักมุมเลี้ยวตรงเชิงสะพานดำรงสถิต

เมื่อสร้างถนนเจริญกรุงเสร็จใหม่ ๆ นั้น ยังไม่ได้พระราชทานนาม จึงเรียกกันทั่วไปว่า ถนนใหม่ และชาวยุโรปเรียกว่า นิวโรด (New Road) ชาวจีนเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า ซิงพะโล่ว (จีน: 新打路) แปลว่าถนนตัดใหม่ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า "ถนนเจริญกรุง" ซึ่งมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เช่นเดียวกับชื่อถนนบำรุงเมืองและถนนเฟื่องนครซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในคราวเดียวกัน ดังความว่า

"ทางที่ทำใหม่ตรงวัดพระเชตุพน ตรงออกไปนอกกำแพงข้ามคลองไปริมบ้านแขกเมืองเขมร เลี้ยวไปถึงป้อมปัจนึกแล้วข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ตรงลงไปถึงบางคอแหลมนั้น โปรดเกล้าฯให้เรียกว่า ถนนเจริญกรุง ห้ามอย่าให้เรียกอย่างอื่นต่อไป จดหมายประกาศให้ราษฎรรู้จงทั่ว"

ในขณะที่ตัดถนนเจริญกรุงตอนใน โปรดให้ตัดถนนบำรุงเมืองและถนนเฟื่องนครด้วย เมื่อหลักฐานว่าเมื่อ พ.ศ. 2407 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสถนนเจริญกรุงและถนนทุกสายที่สร้างในรัชกาล โปรดให้มีการฉลองถนนถึง 3 วัน 3 คืน

หลังจากสร้างถนนเรียบร้อยแล้วจึงได้สร้างตึกแถวโดยได้แบบอย่างจากสิงคโปร์ ตึกแถวประดับโคมไฟซึ่งเริ่มจากการใช้ตะเกียงน้ำมัน แล้วเปลี่ยนมาใช้ไฟแก๊ส จนเมื่อ พ.ศ. 2427 มีการตั้งบริษัทไฟฟ้าสยามเป็นครั้งแรก ไฟตามท้องถนนจึงเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าแทน

ตั้งถิ่นฐาน

ตั้งแต่สะพานมอญ (คลองคูเมือง) จนถึงสะพานดำรงสถิตย์ (คลองรอบกรุง) ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นที่ดินของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานพระโอรสและพระธิดาเพื่อเช่าการค้าและพักอาศัย ประชาชนมักเป็นคนไทยและคนจีน ชุมชนบริเวณสะพานมอญเป็นชาวมอญเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา บริเวณสี่กั๊กพระยาศรีในอดีตมีพวกมอญตั้งถิ่นฐานอยู่ริมสองฝั่งคลอง ช่วงสะพานเหล็กหรือสะพานดำรงสถิตย์จนถึงสะพานพิทยเสถียรเป็นชุมชนชาวจีน ที่ดินบางส่วนในช่วงนั้นเป็นของขุนนางซึ่งสร้างตึกแถวให้เช่า ผู้มาเช่ามีตั้งแต่ขุนนางจีนไปจนถึงกรรมกรจีน แต่มีบางส่วนทำเป็นห้างฝรั่งและพ่อค้าแขก ส่วนบริเวณบางรัก ริมถนนเจริญกรุงนอก ส่วนใหญ่เป็นแขกอินเดียและแขกมลายูในบังคับอินเดีย แขกลังกาในบังคับฝรั่งเศส และแขกยะวาในบังคับฮอลันดา

แต่เดิมชุมชนชาวจีนตลาดน้อยตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อมีการตัดถนนเจริญกรุง ทำให้ชุมชนตั้งห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น ยังเกิดแหล่งการค้าบริเวณสะพานเหล็กล่าง (สะพานพิทยเสถียร) ซึ่งแรกสร้างได้สร้างเป็นสะพานเหล็กคู่กับสะพานเหล็ก (บน) บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษมตรงสะพานพิทยเสถียรเป็นตลาดสินค้าประเภทต่าง ๆ มีสินค้าประเภทโอ่ง กระถาง ที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากจีน มีโรงสี โรงน้ำแข็ง และโกดังสินค้าต่าง ๆ

ย่านตลาดน้อยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีตลาดเจ้าสัวสอนของหลวงอภัยวาณิช (สอน) ต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีตลาดสดเปิดขึ้นมาแข่งขันในบริเวณใกล้เคียงเพิ่มขึ้นอีก 3 ตลาด ได้แก่ ตลาดเจ้าสัวเท่งของพระเจริญราชธน ตลาดพระยาเดโช”ของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) และ ตลาดเจ๊กปิน ของนายปิน ซึ่งเป็นต้นตระกูลจันตระกูล

ส่วนชาวตะวันตก ได้มีการตั้งถิ่นฐานถัดจากคลองผดุงกรุงเกษมไปจนถึงถนนตก โดยชาวตะวันตกชาติแรกที่ได้รับพระราชทานที่ดินริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ชาวโปรตุเกส เพื่อเป็นรางวัลในการช่วยรบกับพม่าในสมัยรัชกาลที่ 1 ชาวโปรตุเกสเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า โรซารี ได้มีการสร้างวัดคริสตังเมื่อ พ.ศ. 2329 คือโบสถ์กาลหว่าร์ ภายหลังมีการสร้างสถานกงสุลถัดจากโบสถ์นี้ เมื่อถึง พ.ศ. 2376 สมัยรัชกาลที่ 3 มีชาวอเมริกันนำโดยคณะอเมริกันแบ๊บติสท์ ได้ส่งมิชชันนารีสาธุคุณ จอห์น เทเลอร์ โจนส์ เข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อเผยแผ่คริสต์ศาสนา ซึ่งได้เช่าเรือนพักอยู่ในสถานกงสุลของโปรตุเกสแห่งนี้ด้วย ต่อมารัชกาลที่ 4 พระราชทานที่ดินให้ชาวตะวันตกชาติต่าง ๆ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี เป็นต้น นอกจากนั้นยังพระราชทานทรัพย์ซื้อที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเงิน 10 ชั่ง (ประมาณ 800 บาท) สร้างสุสานโปรเตสแตนต์ บริเวณถนนเจริญกรุง 72/5 ในปัจจุบัน

รถราง

หลังสร้างถนนไม่กี่ปี ถนนเกิดความชำรุดอย่างรวดเร็ว จอห์น ลอฟตัส ชาวเดนมาร์ก จึงได้ขออนุญาตต่อรัฐบาลทำสัมปทานการรถรางขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2430 พิธีเปิดเดินรถรางเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2431 โดยใช้ม้าลากไปตามราง มีเส้นทางวิ่งระหว่างพระบรมมหาราชวัง บริเวณศาลหลักเมืองไปตามถนนเจริญกรุง ปลายทางอยู่ที่อู่ฝรั่งหรือบางกอกด๊อก (Bangkok Dock) หรือบริษัทอู่กรุงเทพ และในปีต่อมาก็ได้ขยายเส้นทางไปถึงถนนตก

ยุครุ่งเรืองทางธุรกิจ (รัชกาลที่ 4–5)

เมื่อมีการการก่อสร้างด่านศุลกากรขึ้นเพิ่มเติมจากด่านกุฎีจีนที่สร้างตามสนธิสัญญาเบาว์ริง ด่านศุลกากรนี้เรียกว่า ศุลกสถาน เป็นที่สำหรับเรือสินค้าต่างชาติมาจอดเทียบท่าเพื่อจ่ายภาษี ย่านบางรักก็เริ่มมีผู้คนเยอะขึ้น ชาวจีนที่ช่ำชองเรื่องการค้าขายเริ่มจับจองพื้นที่ ภายหลังที่ทางราชการได้สร้างห้องแถวที่สองฝั่งถนนเจริญกรุงเพื่อให้เช่าก็มีชนชาติต่าง ๆ มาเช่าเพื่อทำการค้าขาย ชาวต่างชาติได้นำพาสิ่งอำนวยความสะดวก นวัตกรรม และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ใหม่ ๆ เข้ามาในประเทศไทย เช่น โรงแรมแห่งแรกของประเทศไทยอย่างโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถนนเจริญกรุงเป็นแหล่งพาณิชยกรรมและศูนย์รวมการค้าขนาดใหญ่ โดยมีคลองผดุงกรุงเกษมที่สามารถเป็นเขตแบ่งลักษณะของธุรกิจในถนนเจริญกรุง กล่าวคือในเขตคลองผดุงกรุงเกษมจะเป็นเขตที่อยู่อาศัยและการค้าขายของชาวไทยและชาวจีนอย่างหนาแน่น ที่พักของขุนนางหรือผู้มีบรรดาศักดิ์ตลอดจนหน่วยงานราชการและสถานที่สำคัญ แหล่งการค้าขนาดใหญ่ รวมถึงมีสถาบันการเงินเกิดขึ้นจากชาวต่างประเทศ เช่น ธนาคารฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้ ธนาคารชาร์เตอร์ของอินเดีย ออสเตรเลียและจีน ธนาคารอินโดจีน และยังเป็นจุดเริ่มต้นของกิจการธนาคารในประเทศไทย มีการก่อตั้งบริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด หรือธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทย ได้เปิดทำการสาขาแรกอย่างเป็นทางการในทำเลย่านเจริญกรุงอีกด้วย

ร้านค้าที่เกิดขึ้นเช่น ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2435 โดยนายแพทย์โธมัส เฮย์เวิร์ด เฮส์ ที่ถนนเจริญกรุงมุมถนนสุรวงศ์ด้านใต้ มีการเปิดสาขาขึ้นใหม่ที่หัวมุมถนนเจริญกรุงตัดกับถนนสี่พระยา ร้าน Siam Dispensary หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า ร้านยาสยาม ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2421 ภายหลังคือ บี.กริม เพาเวอร์ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลได้เปิดบนถนนเจริญกรุงแห่งนี้ เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2493 ) ใกล้กับโรงแรมโอเรียนเต็ลมีห้างฟาล์คแอนด์ไบเด็ก (Falck & Beidek) เจ้าของเป็นชาวเยอรมัน คนไทยมักเรียกว่า ห้างสิงโต เพราะมีรูปปั้นสิงโตหมอบอยู่หน้าห้าง ในตรอกโอเรียนเต็ลมีที่ทำการหนังสือพิมพ์ สยามออบเซิร์ฟเวอร์ (Siam Observer) และมีธนาคารชาร์เตอร์ (Charter Bank) ตั้งอยู่ปลายถนนที่ขนานกับตรอกโอเรียนเต็ลสุดริมแม่น้ำ

ถนนเจริญกรุงยังเป็นแหล่งอุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงสีข้าว ซึ่งตั้งเรียงรายริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในระยะแรกเป็นโรงเลื่อยของชาวจีนไหหลำ ดำเนินธุรกิจเพื่อนำไม้ไปใช้ในการก่อสร้างในประเทศและธุรกิจต่อเรือ ต่อมาพัฒนาเป็นโรงเลื่อยด้วยเครื่องจักรไอน้ำ ส่วนชาวตะวันตกเริ่มทำกิจการโรงเลื่อยเมื่อ พ.ศ. 2426 และประสบความสำเร็จมากกว่าโรงเลื่อยของชาวจีน

มีการก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญเมื่อ พ.ศ. 2420 ในพุทธทศวรรษ 2460 บริเวณย่านบางรักเติบโตขึ้นกลายเป็นแหล่งธุรกิจขนาดใหญ่ ตลาดบางรักมีของขายเพื่อรองรับชาวต่างประเทศทั้งของสด ของคาว ผัก ผลไม้และมีของเค็มเช่น เนื้อวัว เนื้อแกะ และของแช่นํ้าแข็ง เช่น นกสไนป์ (นกปากซ่อม) กระต่าย และเนื้อสมัน ของเหล่านี้นำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพง

รัชกาลที่ 6–8

ในสมัยรัชกาลที่ 6 ถนนเจริญกรุง ได้รับการพัฒนาให้เป็นถนนลาดยางมะตอย เริ่มทำเมื่อ พ.ศ. 2465 ใช้เวลาประมาณ 5 เดือนจึงแล้วเสร็จ ในระยะแรก เริ่มราดยางที่บริเวณเชิงสะพานมอญถึงสี่กั๊กพระยาศรี จากนั้นจึงค่อยราดยางถึงถนนตกหรือสุดถนนเจริญกรุง การราดยางยังผลให้ถนนเจริญกรุงไม่มีฝุ่น

พ.ศ. 2470 นายเลิศสร้างตึกสูง 7 ชั้นบนถนนเจริญกรุง ถือเป็นอาคารสูงที่สุดแห่งหนึ่งในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เรียกว่า ตึกนายเลิศ ภายในประกอบด้วยห้างสรรพสินค้าจากต่างประเทศ ใต้ถุนเป็นที่ตั้งของ บาร์นายเลิศ ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของ Hotel de la Paix อีกทั้งเป็นที่ตั้งของสำนักงานบริษัทเดินอากาศสยามแห่งแรกรวมไปถึงบริษัทเดินเรือเมล์ ใต้ถุนตึกยังเป็นโรงน้ำแข็งเพื่อเก็บของสดจากต่างประเทศ อาจกล่าวได้ว่าเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกของกรุงเทพ

หลังเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าเมื่อ พ.ศ. 2475 ทำให้การค้าขายบริเวณใกล้เคียงสะพานทั้งสองฝั่งขยายตัว ได้แก่ สำเพ็ง พาหุรัด เยาวราช สะพานหัน ต่อเนื่องไปถึงถนนเจริญกรุง มีการสร้างตลาดมิ่งเมือง (ดิโอลด์สยามพลาซ่าในปัจจุบัน) ในเวลาใกล้เคียงกับการเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานคร ครบ 150 ปี พ.ศ. 2475 เป็นแหล่งตัดเย็บเสื้อผ้ายุคแรกที่ใหญ่ที่สุด ทำให้ถนนเจริญกรุงย่านนี้เป็นแหล่งรวมกลุ่มผู้หญิง

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ธุรกิจห้างร้านต่าง ๆ ที่เคยเป็นของชาวตะวันตก ถูกญี่ปุ่นเข้ายึดครอง โดยเฉพาะตั้งแต่บางรักถึงบางคอแหลม ซึ่งต่อมารัฐบาลไทยขอใช้สิทธิ์ในการเข้าครอบครองแทน บางธุรกิจก็ปิดกิจการลงอย่างถาวร ถนนเจริญกรุงในยุคสงครามโลกครั้งที่สองได้รับความเสียหาย จากแรงระเบิดหลายแห่ง เช่น เช่น ไปรษณีย์กลางบางรัก อู่บางกอกด๊อก ท่าเรือขนส่งสินค้าเอเชียทีค บางคอแหลม และถนนตก หลังสงครามโลกสิ้นสุดลงจึงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการใหม่ เข้าไปครอบครองกิจการที่ชาวตะวันตกเคยมีบทบาท เช่น ตระกูลจิราธิวัฒน์ เปิดร้านขายของชำและพัฒนาเป็นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เป็นต้น ส่วนบ้านเรือนริมฝั่งถนนเจริญกรุงได้มีการซ่อมแซมปรับปรุง โดยมีลักษณะที่เรียบง่าย ตัวอาคารไม่เน้นการตกแต่ง ใช้เหล็ก กระจก คอนกรีตเสริมเหล็ก ปูนซิเมนต์เป็นวัสดุหลัก อาคารสูง 3–4 ชั้น

หยุดพัฒนา

ตั้งแต่ช่วงหลังปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยเริ่มประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ทำให้กรุงเทพมหานครได้พัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ส่งผลให้เมืองขยาย เนื่องจากย่านเจริญกรุงนั้นแทบจะถูกจับจองเต็มพื้นที่ทำให้ยากต่อการขยายตัว และยังมีการตัดถนนใหม่เพิ่มจำนวนมากทำให้ศูนย์กลางเมืองจึงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่ถนนเจริญกรุงอีกต่อไป

ย่านถนนเจริญกรุงนั้นไม่ค่อยมีการพัฒนาใหม่ ๆ ผู้ที่อาศัยและเปิดกิจการอยู่ตามถนนเจริญกรุงมักจะเป็นผู้เช่าชาวต่างชาติซึ่งไม่สามารถถือครองที่ดินได้ตามกฎหมาย จึงเริ่มมีการขายที่ดินของเอกชนบางแปลงออกไปในลักษณะของการจัดสรรที่ดินแล้วสร้างเป็นอาคารพาณิชย์แบ่งขาย การถือครองที่ดินเริ่มเปลี่ยนกรรมสิทธิ์จากเอกชนรายใหญ่เป็นเจ้าของที่ดินรายย่อยมากขึ้น ส่งผลให้ที่ดินยากต่อการพัฒนาทั้งในรูปแบบของการรวมแปลงที่ดินระหว่างเจ้าของที่เป็นภาคเอกชนเพื่อจัดรูปที่ดินใหม่

ปัจจุบัน

เมื่อมีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสะพานตากสิน เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2542 และในช่วงเวลานั้นเป็นสถานีสุดท้ายของสายสีลม ย่านเจริญกรุงตรงบางรัก ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นจุดสำคัญของการเชื่อมต่อรถยนต์ เรือข้ามฟาก และรถไฟฟ้า คนฝั่งธนบุรี เริ่มมีเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนต์ โกดังเก่าแก่ที่ปรับปรุงให้เป็นศูนย์การค้าแนวราบริมแม่น้ำเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2555 มีโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์และมีคอนโดมิเนียมริมแม่น้ำหลายแห่ง

มีการย้ายสำนักงานใหญ่ของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) จากย่านสุขุมวิทมาตั้งอยู่ที่อาคารไปรษณีย์กลางริมถนนเจริญกรุงย่านบางรัก มีโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2546

พ.ศ. 2558 มีโครงการพัฒนาให้เป็นย่านพาณิชยกรรมสมัยใหม่ พื้นที่สร้างสรรค์ และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจใกล้รถไฟฟ้า เช่น โครงการศูนย์กลางอาหารทะเลกรุงเทพ (Bangkok Seafood Complex) ซึ่งเป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของรัฐที่ร่วมทุนกับเอกชน (PPP) ที่จะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าขององค์การสะพานปลาเก่าให้กลายเป็นอาคารสูง 50 ชั้น

อนาคต

แอสเสท เวิรด์ คอร์ป ได้เข้ามาพัฒนาที่ดินบริเวณเวิ้งนาครเขษม บนเนื้อที่ 14 ไร่เศษ เป็นโรงแรมหรูผสมการค้าที่ทันสมัยคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569–2570 ที่ดินอีกแปลงบนที่ดิน 100 ไร่ บริเวณเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนต์ จะพัฒนาเป็นโรงแรมหรูที่สูงที่สุดในประเทศไทย จะสร้างมูลค่าบนที่ดินราคากว่า 1 ล้านบาทต่อตารางวา

สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มอบที่ดินจำนวนหนึ่งแปลงเพื่อพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันเป็นโรงแรมบูรพาสามยอดซึ่งหมดสัญญาและเป็นโรงแรมร้าง ตั้งอยู่อยู่บริเวณจุดก่อสร้างสถานีสามยอด รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้กับสายสีน้ำเงิน

สิ่งก่อสร้าง

ตึกแถว

ตึกแถวที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ไม่ปรากฏอยู่ คาดว่าน่าจะมีการรื้อถอนตึกแถวในยุคนี้ไปหมดแล้ว จะปรากฏแต่ตึกแถวที่สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ไปแล้ว เช่น ตึกแถวเซ่งชง เชิงสะพานมอญ สร้างประมาณ พ.ศ. 2430–2440 ผู้ครอบครองปัจจุบัน คือ บริษัท บี เอ็น ฮั๊ว ตึกแถวริมถนนเจริญกรุงตัดกับถนนจักรวรรดิ์และถนนวรจักร ตึกที่สำคัญ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเฉลิมนคร และสำนักงานหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนปลาย ชุดตึกแถวริมถนนเจริญกรุงซอย 35 (ตรอกโรงน้ำแข็ง) เชิงสะพานพิทยเสถียร เป็นอาคารเก่าของตระกูลฮุนตระกูล ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยวิศวกรชาวสกอต สร้างเมื่อ พ.ศ. 2443

ส่วนตึกแถวที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้แก่ตึกแถวริมถนนเจริญกรุงซอย 28 ผู้ครอบครองคือ พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) เป็นอาคารสูง 3 ชั้น หลังคาทรงมะนิลา ตึกแถวริมถนนเจริญกรุงซอย 34 ตรอกวัดม่วง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2535 ตึกแถวเขตบางรักก็สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่บริเวณสี่พระยาไปถนนสีลม สาทร เป็นย่านการค้าของชาวตะวันตก มีการพระราชทานที่ดินเป็นสถานกงสุล ตั้งอาคารสำนักงาน บ้านเรือนของชาวต่างประเทศ ในอดีตเคยมีธนาคารฮ่องกงและธนาคารเซี่ยงไฮ้ อยู่ปากคลองผดุงกรุงเกษม

ตึกแถวที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้แก่ตึกแถวริมถนนเจริญกรุงตัดกับถนนข้าวหลามและถนนทรงวาด สร้างเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นตึกแถวสูง 3–4 ชั้น และตึกแถวนานา ริมถนนเจริญกรุงซอย 43 เจ้าของคือ คุณเล็ก นานา

อาคารเก่าแก่

บริเวณซอยกัปตันบุชเป็นที่ตั้งของสถานกงสุลโปรตุเกส สถานกงสุลแห่งแรกในไทย ในซอยเดียวกันนี้ยังมีบ้านเลขที่ 1 ของประเทศไทย ปัจจุบันเป็นของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

บ้านโซวเฮงไถ่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราว พ.ศ. 2340 ตั้งอยู่ในบริเวณตลาดน้อย ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย อาคารสร้างเมื่อ พ.ศ. 2451 โรงแรมโอเรียนเต็ล โรงแรมเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ก่อตั้งประมาณปี พ.ศ. 2413 ศุลกสถาน (สถานีดับเพลิงบางรักเก่า) ในซอยเจริญกรุง 36 อาคารสร้างราว พ.ศ. 2429–2431

ศาลาเฉลิมกรุงได้วางศิลาฤกษ์โดย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 และเปิดฉายภาพยนตร์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2476 อาคารไปรษณีย์กลางตั้งอยู่ถนนเจริญกรุง อยู่ระหว่างซอย 32 และ 34 มีลักษณะสถาปัตยกรรมบรูทัลลิสต์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2483

ศาสนสถาน

มัสยิดบ้านอู่ เป็นมัสยิดจดทะเบียนหลังแรกของไทย ตั้งอยู่บริเวณถนนเจริญกรุง 46 ได้รับการก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 หรือประมาณ พ.ศ. 2455 และมีมัสยิดบางอุทิศ ซอยเจริญกรุง 99

อาสนวิหารอัสสัมชัญบริเวณซอยเจริญกรุง 40 อาคารหลังปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2452 โบสถ์กาลหว่าร์หรือวัดแม่พระลูกประคำ บริเวณตลาดน้อย โบสถ์หลังปัจจุบันเป็นหลังที่สาม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2440 สำหรับสุสานโปรเตสแตนต์ตั้งอยู่ใกล้กับวัดราชสิงขร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานที่ดินให้แก่ชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์เพื่อให้เป็นสถานที่ฝังศพ

วัดศาลเจ้าเจ็ด (ซิกเซียม่า) เป็นศาลเจ้าที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2425 อยู่ในซอยเจริญกรุง 39 ศาลเจ้าเจียวเอ็งเนี้ยว ซอยเจริญกรุง ซอย 44 วัดมังกรกมลาวาสหรือวัดเล่งเน่ยยี่ วัดจีนที่ตั้งอยู่ระหว่างเจริญกรุง ซอย 19 และซอย 21 ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2414 และมีวัดอุภัยราชบำรุงเป็นวัดญวณตั้งอยู่บริเวณตลาดน้อย

วัดพุทธไทยที่ตั้งอยู่ริมถนนเจริญกรุงและในซอย ได้แก่ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร วัดม่วงแค วัดสวนพลู วัดยานนาวา วัดสุทธิวราราม และวัดราชสิงขร

สถานศึกษาและสถานที่ราชการ

บริเวณถนนตกเป็นที่ตั้งของสำนักงานการไฟฟ้านครหลวง เขตยานนาวา ภายในสำนักงานได้เก็บรักษารถรางพร้อมกับป้ายหยุดรถราง บริเวณใกล้กันเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ตั้งโรงฆ่าสัตว์มาก่อน มีการนำวัวควายส่งเข้ามาทั้งทางบกและทางน้ำ บริเวณหลังโรงพยาบาลมีชุมชนชาวมุสลิมสร้างบ้านเรือนอยู่ แต่เดิมประกอบอาชีพในโรงฆ่าสัตว์มาก่อน ไม่ไกลกันมากเป็นที่ตั้งของอู่เรือวังเจ้า เป็นอู่ซ่อมเรือ เหตุที่ใช้ชื่อนี้เพราะแต่เดิมเป็นพื้นที่วังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์

สถานศึกษาที่ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ศูนย์พระนครใต้ โรงเรียนวัดสุทธิวราราม โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย โรงเรียนวัดสวนพลู โรงเรียนวัดม่วงแค โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา และโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพฯ

ศูนย์การค้า

ห้างสรรพสินค้าโรบินสันบางรัก เปิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 เซ็นทรัล: ดิออริจินัลสโตร์ บริเวณปากซอยเจริญกรุง 38 เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2563

รายชื่อทางแยก

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

  • แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ ถนนเจริญกรุง
    • ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
    • แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
    • ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์

Giuseppe Zanotti Luxury Sneakers

Text submitted to CC-BY-SA license. Source: ถนนเจริญกรุง by Wikipedia (Historical)


Langue des articles



PEUGEOT 205

Quelques articles à proximité